PantipMarket 10th Years Anniversary
Market Let's do Share facebook Share twitter
ชื่อสถานศึกษา โรงเรียนบ้านคีรีลาดพัฒนา
จำนวนชั้นที่เปิดสอน อนุบาล 1 ถึง ประถมศึกษาชั้นปีที่ 6
จำนวนนักเรียน อนุบาล 21 คน ประถมศึกษา 64 คน รวมทั้งสิ้น 85 คน
จำนวนครูและบุคลากร 13 คน
โรงเรียนขนาด พื้นที่ 17 ไร่ จำนวนอาคารเรียน 1 หลัง อาคารชั่วคราว 1 หลัง อาคารอเนกประสงค์ 1 หลัง


โรงเรียนบ้านคีรีลาดพัฒนา เดิมเป็นสาขาของโรงเรียนนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ 1 ก่อตั้งขึ้นเมื่อวันที่ 1 เดือน ธันวาคม พ.ศ. 2532 ชื่อโรงเรียนนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ 1 สาขาบ้านคีรีลาดพัฒนา มีพื้นที่ 17 ไร่ ได้รับบริจาคที่ดินจากนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดยะลา โรงเรียนมีอาคารเรียนชั่วคราว 1 หลัง สร้างด้วยงบประมาณของนิคมสร้างตนเองพัฒนาภาคใต้ จังหวัดยะลา เปิดสอนชั้นประถมศึกษาปีที่ 1 มีครู 1 คน มีนักเรียน 11 คน แยกเป็นเอกเทศเมื่อ เดือน ตุลาคม พ.ศ. 2536 ชื่อโรงเรียนบ้านคีรีลาดพัฒนา มีครูประจำการ 5 คน ครูช่วยราชการ 1 คน มีนักเรียน 57 คน

ปัจจุบันโรงเรียนบ้านคีรีลาดพัฒนา มีจำนวนข้าราชการครูทั้งหมด 4 คน พนักงานราชการ 5 คน วิทยากรสอนอิสลามศึกษา 1 คน ลูกจ้างชั่วคราว (พนักงานบริการ) 1 คน พนักงานรักษาความปลอดภัย 1 คน บุคลากรทั้งหมด 13 คน จำนวนนักเรียนทั้งหมด 85 คน

สภาพชุมชนรอบบริเวณโรงเรียนมีลักษณะเป็นภูเขา มีประชากรประมาณ 425 คน อาชีพหลักของชุมชน คือ ทำสวนยางพารา ทำสวนผลไม้ รับจ้าง ส่วนใหญ่นับถือศาสนาอิสลาม โรงเรียนอยู่ใกล้แหล่งเรียนรู้ทางธรรมชาติ มัสยิด ชุมชนรอบข้างให้การสนับสนุนการจัดการเรียนการสอนการศึกษาเป็นอย่างดี เนื่องจากปัญหาสถานการณ์ความไม่สงบใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ ทำให้โรงเรียนมีความเสี่ยงจากการคุกคามจากผู้ร้ายอยู่ตลอดเวลา ต้องปิดเรียนบ่อยครั้ง ทำให้การจัดกิจกรรมการเรียนการสอนไม่ต่อเนื่อง ในหมู่บ้านมีแหล่งเรียนรู้ที่นำนักเรียนออกไปศึกษาเรียนรู้และผู้นำชุมชน โต๊ะอีหม่าม ผู้ใหญ่บ้าน มาสอนเกี่ยวกับศีลธรรม – จริยธรรม การปฏิบัติตนในการอยู่ร่วมกันในสังคม และการดำเนินชีวิตที่ถูกต้อง


(ปีการศึกษา 2554 จำนวนนักเรียน 73 คน)

  • จำนวนนักเรียนมีภาวะทุพโภชนาการ 64 คน คิดเป็นร้อยละ 87.67
  • จำนวนนักเรียนที่มีสมรรถภาพทางกายตามเกณฑ์ของกรมพลศึกษาหรือสำนักงานกองทุนสนับสนุนการสร้างเสริมสุขภาพ (สสส.) 55 คน คิดเป็นร้อยละ 75.34
  • จำนวนนักเรียนที่มีความบกพร่อง เรียนร่วม 2 คน คิดเป็นร้อยละ 2.73

ระยะทางระหว่างโรงเรียนถึงโรงพยาบาลส่งเสริมสุขภาพตำบลที่รับผิดชอบ 10 กม. ระหว่างโรงเรียนถึงโรงพยาบาลประจำอำเภอ ระยะทาง 20 กม. สภาพการคมนาคมยากลำบาก ถนนลาดชัน อยู่ในหุบเขา พื้นถนนขรุขระ เป็นหลุมเป็นบ่อ บางช่วงถูกกระแสน้ำตัดขาด สามารถจราจรได้เพียงช่องทางเดียว คับแคบ
ชื่อโครงการ : HEALTHY SHCOOL
หลักการและเหตุผล (ความเป็นมาและความสำคัญของปัญหาที่โรงเรียนได้รับผลกระทบ)

สุขภาพกับการศึกษา เป็นสิ่งที่ต้องดำเนินการควบคู่กันไป ให้เกิดการประสานเอื้ออำนวยประโยชน์ และเกื้อกูลซึ่งกันและกันในทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้อง เพื่อผลลัพธ์ที่มีประสิทธิภาพสูงสุดต่อกลุ่มเป้าหมายเด็กนักเรียน คือ เด็กไทย ดี เก่ง มีสุข ปัจจุบันแนวทางการพัฒนาเด็กวัยเรียนและเยาวชนมีความชัดเจนเป็นรูปธรรมมากขึ้น ทั้งในเชิงยุทธศาสตร์และเชิงเป้าหมาย โดยเฉพาะจาก 2 มิติสำคัญของนโยบายชาติ ประการที่หนึ่ง คือ มิติแห่ง “การปฏิรูปการศึกษา” กล่าวถึง “การประกันคุณภาพการศึกษา” ในด้านกระบวนการเรียนการสอนโดยเน้นผู้เรียนเป็นสำคัญบนพื้นฐานกระบวนการจัดการศึกษาในปรัชญาหลัก 3 ประการ คือ การศึกษาเพื่อปวงชน การศึกษาตลอดชีวิต และการศึกษาเพื่อการแก้ไขปัญหาทั้งมวล อีกประการหนึ่ง คือ มิติแห่ง “การปฏิรูประบบสุขภาพ” กล่าวถึง “การสร้างหลักประกันสุขภาพถ้วนหน้า” ซึ่งเป็นการให้สิทธิขั้นพื้นฐานแก่ประชาชน บุคคลย่อมมีสิทธิเสมอกันในการรับบริการสาธารณสุขที่ได้มาตรฐาน โดยกระบวนการจัดการด้านสุขภาพในปรัชญาหลัก 3 ประการเช่นเดียวกัน คือ สุขภาพเพื่อปวงชน สุขภาพเพื่อชีวิต และสุขภาพเพื่อแก้ไขปัญหาทั้งมวล จึงเห็นได้ว่าทั้ง 2 มิติ ต่างมีความเชื่อมโยงจากรากฐานปรัชญาเดียวกัน (กรมอนามัย, 2546: 4)

การพัฒนาเด็กและเยาวชน จึงอยู่ที่กระบวนการจัดการศึกษาและการสร้างสุขภาพ จุดเริ่มต้นจึงจำเป็นต้องมุ่งไปที่การเพิ่มประสิทธิภาพของสถาบันการศึกษาให้เป็นแกนนำหรือศูนย์กลางการสร้างสุขภาพพร้อมๆ กับการพัฒนาศึกษา ภายใต้ความร่วมมือจากทุกฝ่ายที่เกี่ยวข้องนับตั้งแต่ครอบครัวของเด็ก โรงเรียน ชุมชน และองค์กรในท้องถิ่นซึ่งทั้งหมดล้วนเป็นสถาบันพื้นฐานทางสังคมที่มีความสำคัญยิ่งต่อการพัฒนา โรงเรียนบ้านคีรีลาดพัฒนาได้นำเอาแนวคิดดังกล่าวมาดำเนินงานพัฒนาโรงเรียนโดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ทั้งจากตนเองและชุมชน เพื่อพัฒนาให้โรงเรียนเป็นจุดเริ่มต้นของการพัฒนาสุขภาพควบคู่ไปกับการเรียนการสอน โดยมีบทบาทในการพัฒนาสุขภาพอนามัยและการเรียนรู้ของนักเรียน ครู บุคลากรในโรงเรียนและสมาชิกในชุมชน ภายใต้การบริหารจัดการของโรงเรียน ประสานการมีส่วนร่วมของผู้ที่เกี่ยวข้องทั้งด้านการศึกษา สาธารณสุขและชุมชน เพื่อให้นักเรียนสามารถดูแลสุขภาพตนเองและผู้อื่น รวมทั้งมีพฤติกรรมสุขภาพที่ถูกต้อง ท่ามกลางสิ่งแวดล้อมที่เอื้อต่อการมีสุขภาพดี

โรงเรียนบ้านคีรีลาดพัฒนา เป็นโรงเรียนที่อยู่ห่างจากตัวเมืองมาก และห่างไกลความเจริญ เป็นโรงเรียนขนาดเล็กซึ่งได้รับการจัดสรรงบประมาณในการบริหารจัดการจำนวนน้อย และทางโรงเรียนมีงบประมาณไม่เพียงพอ โรงเรียนขาดห้องพยาบาลที่เป็นสัดส่วน ปัจจุบันอยู่ในพื้นที่เดียวกันกับห้องสำนักงานโรงเรียน ขาดอุปกรณ์และเวชภัณฑ์ในการปฐมพยาบาลเบื้องต้น โรงเรียนอยู่ห่างไกลจากสถานบริการสาธารณสุขและการคมนาคมไม่สะดวก รวมทั้งอยู่ในพื้นที่เสี่ยงภัยจากเหตุการณ์ความไม่สงบ จึงจำเป็นต้องสร้างห้องพยาบาลที่มีมาตรฐานสำหรับนักเรียน บุคลากรในโรงเรียนและชุมชน

วัตถุประสงค์ของโครงการ
  1. เพื่อให้สิ่งแวดล้อมในโรงเรียนเอื้อต่อการเรียนรู้อย่างเหมาะสมให้แก่นักเรียนและบุคลากรอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
  2. เพื่อให้มีห้องพยาบาล ยาและเวชภัณฑ์ อุปกรณ์ต่างๆ ที่จำเป็นต่อการดูแลสุขภาพ เฝ้าระวังโรค และรักษาพยาบาลเบื้องต้น สำหรับนักเรียนและบุคลากรในโรงเรียนรวมทั้งชุมชนได้

งบประมาณ
  1. สร้างห้องพยาบาล เป็นเงิน 150,000 บาท
  2. ยาและเวชภัณฑ์ เป็นเงิน 5,000 บาท
  3. เครื่องชั่งน้ำหนักพร้อมที่วัดส่วนสูง (ดิจิตอล) เป็นเงิน 5,000 บาท
รวมเป็นเงิน 160,000 บาท (หมายเหตุ สามารถถัวเฉลี่ยกันได้)

ผลที่คาดว่าจะได้รับ
โรงเรียนและชุมชนมีห้องพยาบาลที่มีมาตรฐานสามารถดูแลสุขภาพเบื้องต้นได้