PantipMarket 10th Years Anniversary
Market Let's do Share facebook Share twitter
ชื่อสถานศึกษา โรงเรียนบ้านกำปงบือแน
จำนวนชั้นที่เปิดสอน อนุบาล 1 ถึง ประถมศึกษาชั้นปีที่ 6
จำนวนนักเรียน 239 คน
จำนวนครูและบุคลากร 13 คน
โรงเรียนขนาด พื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน 47 ตารางวา จำนวนอาคารเรียนมี 3 หลัง อาคารอเนกประสงค์ 1 หลัง ห้องสมุด 1 ห้อง และอาคารสำหรับให้บุคลากรและนักเรียนละหมาด 1 อาคาร


โรงเรียนบ้านกำปงบือแน ก่อตั้งเมื่อ พ.ศ. 2507 โดยมีผู้บริจาคที่ดิน 4 ไร่ 2 งาน 47 ตารางวา เพื่อสร้างอาคารชั่วคราว 2 ห้องเรียน ประกอบกับประชาชนในหมู่บ้านออกแรงช่วยเหลือในการปรับปรุงพื้นที่และสร้างอาคาร โดยไม่อาศัยงบประมาณของทางราชการแต่อย่างใด แต่กำนันได้ขอความร่วมมือจากประชาชนในท้องถิ่นจัดสร้างอาคารเรียนจนแล้วเสร็จและเปิดทำการสอนได้เมื่อวันที่ 16 กันยายน 2507 โดยมีเด็กนักเรียนรุ่นแรก จำนวน 20 คน เปิดทำการสอนเฉพาะชั้นประถมศึกษาปีที่ 4 ต่อมาในปีการศึกษา 2520 ได้ขยายการศึกษาจนถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 7 และเมื่อปีการศึกษา 2521 โรงเรียนได้ดำเนินการสอนตามหลักสูตร 2521 โดยเปิดทำการสอนตั้งแต่ชั้นเด็กเล็ก ถึงชั้นประถมศึกษาปีที่ 6

โรงเรียนเปิดให้บริการตั้งแต่ระดับก่อนประถมศึกษา ตั้งแต่อนุบาล 1 ถึงระดับประถมศึกษาชั้นปีที่ 6 มีนักเรียนทั้งหมด 239 คน นักเรียนเพศชาย 114 คน นักเรียนเพศหญิง 125 คน ระดับก่อนประถมศึกษามี 2 ห้องเรียน ระดับประถมศึกษามี 8 ห้องเรียน มีครูประจำการจำนวน 10 คน พนักงานราชการ จำนวน 3 คน เพศชาย 4 คน เพศหญิง 9 คน นับถือศาสนาพุทธ 1 คน ศาสนาอิสลาม 12 คน รวมทั้งสิ้น 13 คน

โรงเรียนบ้านกำปงบือแน มีพื้นที่ 4 ไร่ 2 งาน 47 ตารางวา จำนวนอาคารเรียนมี 3 หลัง เป็นอาคารแบบ ป.1ก มี 3 ห้องเรียน อาคารแบบ สปช.105/26 มี 2 ชั้น จำนวน 8 ห้องเรียน และอาคารแบบ สปช.105/29 ใต้ถุนโล่ง มีจำนวน 4 ห้องเรียน อาคารอเนกประสงค์ 1 หลัง ห้องสมุด 1 ห้อง และอาคารสำหรับให้บุคลากรและนักเรียนละหมาด 1 อาคาร ห้องพยาบาล และห้องแนะแนวอย่างละ 1 ห้อง แบ่งซอยจากห้องพักครูและห้องพักผู้บริหารร่วมกับห้องธุรการ, ห้องประชุม, ห้องโถงอเนกประสงค์ อย่างละ 1 ห้อง โดยต่อเติมชั้นล่างของอาคารเรียนแบบ สปช.105/29 จำนวน 3 ห้อง และมีห้องส้วม 4 ที่นั่ง 2 ห้อง มีเครื่องคอมพิวเตอร์จำนวนทั้งหมด 4 เครื่อง ใช้เพื่อการเรียนการสอน 1เครื่อง ใช้สืบค้นข้อมูลทางอินเทอร์เน็ตได้ 1 เครื่อง ใช้ในงานบริหาร 2 เครื่อง

ข้อมูลเกี่ยวกับชุมชน
ลักษณะของชุมชนที่โรงเรียนตั้งอยู่มีประชากรประมาณ 1,900 คน ประชากรนับถือศาสนาอิสลาม ร้อยละ 100 ใช้ภาษาถิ่นยาวีในการสื่อสาร ประชาชนส่วนใหญ่มีอาชีพเกษตรกรรมสภาพเศรษฐกิจค่อนข้างยากจน รายได้ของประชากรต่อหัว ประมาณ 1,800 บาท/ ปี ชุมชนมีความสัมพันธ์กับสถานศึกษาค่อนข้างดีและมีส่วนร่วมในการบริหารจัดการสถานศึกษาค่อนข้างน้อยเนื่องจากมีความรู้น้อย


  • โรงเรียนส่งเสริมการอนุรักษ์ธรรมชาติ มหาวิทยาลัยมหิดล
  • ผู้บริหารสถานศึกษาได้รับรางวัลหนึ่งแสนครูดีของสำนักงานคุรุสภา
  • ผู้บริหารสถานศึกษาได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับหนึ่ง ประเภทผู้บริหารดีเด่น
  • ผู้บริหารสถานศึกษาได้รับการพิจารณารับทุนการศึกษาในการศึกษาต่อระดับปริญญาเอก
  • ผู้บริหารสถานศึกษาได้รับเกียรติบัตรผู้เข้าอบรมดีเยี่ยมในการอบรมลูกเสือระดับผู้นำ
  • นักเรียนได้รับรางวัลรองชนะเลิศอันดับที่ 1 การขับร้องเพลงอนาชีดในงานมหกรรมสามจังหวัดชายแดนภาคใต้ ณ สบย. ที่ 12
  • นักเรียนได้รับรางวัลชนะเลิศ การประกวดแดนเซอร์ในงานมหกรรมวิชาการจังหวัดชายแดนใต้
  • รางวัลรองชนะเลิศ อันดับที่ 1 ลูกทุ่งคาราโอเกะชาย ระดับเขตพื้นที่การศึกษา
  • รางวัลรองชนะเลิศอันดันที่ 2 การแข่งขันเกมคณิตศาสตร์ (เกม 24) ระดับเขตพื้นที่การศึกษา
  • รางวัลชมเชย การแข่งขันลูกทุ่งคาราโอเกะ หญิง ระดับเขตพื้นที่การศึกษา
  1. คณะกรรมการสถานศึกษา ชุมชน และท้องถิ่นให้ความสำคัญ สนับสนุนการจัดการศึกษาและให้ความร่วมมืออย่างดี
  2. ข้าราชการครูและบุคลากรมีความมุ่งมั่นและใส่ใจในการที่จะพัฒนาตนเอง ให้ความร่วมมือในการปฏิบัติและสนับสนุนด้านกำลังกายกำลังใจ
  3. นักเรียนมีความพร้อมและให้ความร่วมมือในการเตรียมความพร้อมเป็นอย่างดี
  4. ได้รับงบประมาณสนับสนุนกิจกรรมการเรียนการสอนจากหน่วยงานภาครัฐและเอกชน


  1. เหตุการณ์ใน 3 จังหวัดชายแดนภาคใต้ เป็นอุปสรรคในการจัดการเรียนการสอน ครูต้องเข้าไปทำการเรียนการสอนด้วยความระมัดระวังและมีความหวาดระแวง ต้องมีเจ้าหน้าที่และชรบ.ประจำหมู่บ้านคอยดูแล

    ปีการศึกษา 2525 ได้เกิดเหตุการณ์ที่ทำให้คณะครู นักเรียน และประชาชนสะเทือนใจมากที่สุด คือได้มีโจรกลุ่มหนึ่งบุกเข้าจับครูสตรี 2 คน ซึ่งพักอาศัยอยู่ที่บ้านพักครูในบริเวณโรงเรียน เรียกร้องให้เจ้าหน้าที่ตำรวจปฏิบัติตามกลุ่มโจรต้องการ เป็นการต่อรอง พร้อมกันนั้นได้เผาอาคารเรียน แบบ ปดก. จำนวน 4 ห้องเรียน ไฟได้ไหม้อาคารเรียนหมดทั้งหลัง ส่วนอาคารเรียนขนาด 3 ห้องเรียนไฟได้ไหม้เพียงบางส่วน ทำให้โรงเรียนเสียหายทั้งอาคารเรียน วัสดุ ครุภัณฑ์ จนหมดสิ้น หลังจากนั้นประชาชน ผู้ปกครอง และทางราชการได้ร่วมมือกัน สร้างอาคารชั่วคราวขึ้น เพื่อเป็นที่เรียนของนักเรียนต่อไป ต่อมาในปีการศึกษา 2526 โรงเรียนได้รับงบประมาณพิเศษสร้างอาคารเรียน แบบ สปช. 105 ขนาดห้องเรียน จำนวน 1 หลัง ทำให้ประชาชนมีความดีใจและเข้าใจทางราชการในการช่วยกันแก้ปัญหาที่เกิดขึ้น

    พ.ศ. 2551 -2554 ได้เกิดเหตุการณ์ความไม่สงบบ่อยครั้ง ทั้งเกิดเหตุลอบวางระเบิดบนถนนเส้นทางการเดินทางของครู มีเหตุการณ์ชุ่มยิงเจ้าหน้าที่ทหาร และมีการพ่นสีมีข้อความขู่หน้าป้ายโรงเรียน ปัจจุบันได้เกิดเหตุลอบวางระเบิดสารวัตร กำนัน และยิงอดีตผู้ใหญ่บ้าน
  2. งบประมาณที่ได้รับไม่เพียงพอในการจัดกิจกรรมการเรียนการสอนและพัฒนาสถานศึกษา
  3. มีคอมพิวเตอร์ในการจัดระบบข้อมูลสารสนเทศไม่เพียงพอ
  4. ไม่มีคอมพิวเตอร์สำหรับนักเรียนให้ฝึกการเรียนรู้
  5. นักเรียนชั้นอนุบาลขาดเครี่องเล่นสนามและลานเครื่องเล่นได้รับผลกระทบจากอุทกภัย โดยเมื่อวันที่ 23 – 25 พฤศจิกายน พ.ศ. 2554 ทางโรงเรียนได้ประสบอุทกภัยและวาตภัย ทำให้หลังคาอาคารเรียนและวัสดุอุปกรณ์ได้รับความเสียหายเป็นจำนวนมาก
  6. ขาดที่สำหรับล้างหน้าแปรงฟันสำหรับนักเรียนอนุบาล
  7. ขาดที่สำหรับน้ำดื่มสะอาดของนักเรียน