Delta Intertrading
เจ้าของร้าน Login ที่นี่
หน้าร้าน รายการสินค้า ติดต่อร้านค้า ส่งข้อความหลังไมค์ วิธีการสั่งซื้อสินค้า วิธีการชำระเงิน
เว็บบอร์ด
สมาชิกร้านค้า
หมวดสินค้า
สถิติร้านค้า
เปิดร้าน17/02/2016
อัพเดท11/02/2022
เป็นสมาชิกเมื่อ 12/02/2016
สถิติเข้าชม170539
บริการของร้านค้า
ตรวจสอบสถานะไปรษณีย์
จดหมายข่าว
ใส่ email ของท่านเพื่อรับข่าวสารร้านค้านี้

subscribe unsubscribe




ข้อมูลร้านค้า
   
ที่อยู่  BKK 10240
โทร.  021147883
Mail  delta.intertrading@gmail.com
QR code
http://www.pantipmarket.com/mall/deltaintertrading
Search      Go

Home / Webboard

 รวมกระทู้  


 
การเลือกใช้จาระบี
 18/02/2016 11:24:28 น.
DELTA LUBE  IP ผู้โพสต์ : A:192.168.0.314.207.140.160
 
 

รอบรู้เรื่องอุตสาหกรรมตอน จาระบี (Grease)สุภัทรชัย สิงห์บาง
engineer2000@engineer.com


จาระบี (Grease)เป็นวัสดุในงานอุตสาหกรรมที่เราต่างรู้จักกันเป็นอย่างดี แต่จะมีสักกี่คนที่จะให้ความสนใจถึงชนิดต่าง ๆ ของจาระบี และรู้จักเลือกใช้ให้เหมาะสมกับงาน เพราะในความเป็นจริงนั้นจาระบี แบ่งออกเป็นหลายชนิดตามวัตถุดิบที่สร้าง และผลิตออกมาให้เหมาะกับการใช้งานต่าง ๆ กัน การเลือกใช้ให้ถูกต้องจะช่วยให้เครื่องมือ/เครื่องจักรของเรามีอายุการใช้งานยาวนาน และไม่ต้องคอยซ่อมบำรุงกันอยู่บ่อย ๆ


จาระบีคืออะไร ?




รูปที่ 1 แสดงรูปเนื้อสารของจาระบี


จาระบีมีหน้าตาดังแสดงในรูปที่ 1 เป็นสารกึ่งของเหลว/กึ่งของแข็ง โดยเป็นสารผสมระหว่างน้ำมันหล่อลื่น (Fluid Lubricant), สารทำให้เข้มข้น (Thicker) และสารเติม (Additives)
น้ำมันหล่อลื่น ที่นำมาผสมเป็นจาระบี อาจเป็นได้ทั้งน้ำมันปิโตรเลียม (Petroleum), น้ำมันสังเคราะห์ (Synthetic Oil) หรือน้ำมันพืช (Vegetable) ส่วนสารทำให้เข้มข้นนั้นจะช่วยให้จาระบีมีคุณลักษณะที่เหนียว และมีโครงสร้างวัสดุที่ดูเป็นเส้นใย 3 มิติ หรือเป็นเหมือนก้อนฟองน้ำที่ดูดซับและชุ่มไปด้วยน้ำมัน
สารทำให้เข้มข้นได้แก่ สบู่, สารอินทรีย์ หรือสารอนินทรีย์ที่ไม่ใช่สบู่ ทั้งนี้จาระบีส่วนใหญ่ในท้องตลาดเป็นสารประกอบที่ผลิตจากน้ำมันจากแร่ ผสมกับสารทำให้เข้มข้นที่เป็นสบู่ ในขณะที่สารเติมที่กล่าวถึงในตอนต้นนั้นจะใส่เข้าไปเพื่อเพิ่มคุณสมบัติพิเศษให้จาระบี และป้องกันเนื้อจาระบี


การใช้งานจาระบี



จาระบี จะทำหน้าที่เกาะติด และรักษาพื้นผิวที่มีการเคลื่อนที่ ไม่ให้น้ำหนัก, แรงจากการหมุน หรือแรงจากการเสียดสีทำให้หน้าสัมผัสเกิดความเสียหาย และข้อกำหนดหลักของจาระบีในทางปฏิบัติก็คือจะต้องรักษาคุณสมบัติของเฉพาะตัวเอาไว้ให้ได้แม้ว่าอุณหภูมิแวดล้อมจะสูงขึ้น ข้อควรจำอย่างแรกก็คือจาระบีและน้ำมันหล่อลื่นไม่สามารถใช้แทนกันได้น้ำมันหล่อลื่นจะถูกใช้ในงานหล่อลื่นเครื่องจักรกลซึ่งมีการระบุใช้กับน้ำมันหล่อลื่นตามคุณสมบัติที่กำหนดเอาไว้เท่านั้น
เราจะใช้จาระบีก็ต่อเมื่อในทางปฏิบัตินั้นไม่สะดวกที่จะใช้น้ำมันหล่อลื่น และเราควรใช้จาระบีในลักษณะงานต่อไปนี้


1. เครื่องจักรที่ทำงานไม่ต่อเนื่อง หรือเครื่องจักรที่ต้องถูกเก็บไว้เป็นเวลานาน ๆ เพราะชั้นฟิล์มหล่อลื่นของจาระบีจะช่วยรักษาชิ้นส่วนเคลื่อนที่ของเครื่องจักรเอาไว้
2. เครื่องจักรที่ผู้ใช้ไม่สะดวกที่จะใส่น้ำมันหล่อลื่นได้บ่อย ๆ หรือใส่น้ำมันหล่อลื่นได้ยาก เช่น ในตำแหน่งที่คับแคบ และเข้าถึงได้ยาก
3. เครื่องจักรที่ทำงานในสภาวะหนัก เช่นอุณหภูมิสูง, ความดันสูง, แรงสั่นสะเทือนมาก หรือเครื่องจักรความเร็วรอบต่ำแต่โหลดหนัก ๆ เป็นต้น เพราะภายใต้สภาวะดังกล่าว
จาระบีจะเป็นเหมือนเบาะรองที่มีความหนาให้กับหน้าสัมผัส ช่วยให้เกิดการหล่อลื่นได้ดี
ในขณะที่ถ้าเป็นน้ำมันหล่อลื่นนั้นชั้นรองจะบางเกินไปและเกิดแยกตัวออกได้
4. ชิ้นส่วน หรือเครื่องจักรเก่า เพราะจาระบีจะช่วยลดช่องว่างของชิ้นส่วนที่มีการเคลื่อนที่ของเครื่องจักรให้น้อยลง ช่วยยืดอายุของเครื่องจักรเก่าซึ่งเคยใช้น้ำมันเป็นสารหล่อลื่นมาก่อน และจาระบียังช่วยลดเสียงดังรบกวนที่เกิดจากการเสียดสีของเครื่องจักรเก่าด้วย


คุณสมบัติในการทำงานของจาระบี


1. จาระบีจะต้องเป็นเหมือนสารผนึกที่ช่วยลดรอยรั่ว หรือช่องว่าง และป้องกันชิ้นส่วนจากวัตถุเจือปน และฝุ่นละออง
2. จาระบีต้องมีความง่ายในการใช้กว่าน้ำมันหล่อลื่น เพราะการหล่อลื่นด้วยน้ำมันต้องอาศัยระบบและอุปกรณ์ที่มีราคาแพง
3. จาระบีจะต้องยึดจับของแข็งที่เป็นสารแขวนลอย ในขณะที่ถ้าเป็นน้ำมันหล่อลื่นสารแขวนลอยจะกระจายตัวในน้ำมัน
4. ระดับของเหลวไม่ต้องควบคุม หรือต้องคอยตรวจสอบ


ข้อด้อยของจาระบี
1.มีคุณสมบัติในการถ่ายเทความร้อนต่ำ เนื่องจากความเหนียวของจาระบีทำให้การนำพาความร้อนไม่สามารถทำได้เหมือนน้ำมัน
2.ความต้านทานต่อการเคลื่อนที่ ในช่วงการเริ่มเดินเครื่องจักร (Start-up) จาระบีจะสร้างแรงต้านการเคลื่อนที่ ดังนั้นจาระบีอาจไม่เหมาะกับงานที่มีแรงบิดต่ำแต่ความเร็วรอบสูง
3.ชำระล้างหรือถ่ายเทออกยากกว่าน้ำมันและระดับที่แท้จริงของการใส่จาระบีก็ยากที่จะวัดค่าออกมา


คุณลักษณะเฉพาะของจาระบี
-ความหนืด
เมื่อเริ่มเดินเครื่องจักรจาระบีจะมีความต้านทานต่อการเคลื่อนที่ของเครื่องจักร แต่พอความเร็วสูงขึ้นการต้านทานของจาระบีจะน้อยลง ซึ่งคุณลักษณะนี้เรียกว่าความหนืด เมื่อเปรียบเทียบกับกรณีของน้ำมันนั้นจะต่างกัน เพราะน้ำมันที่อุณหภูมิคงที่จะมีระดับความหนืดเท่าเดิมทั้งในช่วงการเริ่มเดิน และช่วงการทำงานของเครื่องจักร สำหรับจาระบีความหนืดที่เกิดเป็นความหนืดปรากฏ (Apparent Viscosity)


- การแตกซึม (Bleeding)เป็นสภาวะที่ของเหลวแยกตัวออกจากสารทำให้เข้มข้น (Thicker) สภาวะนี้เกิดขึ้นเมื่ออุณหภูมิการใช้งานสูง และอาจเกิดขึ้นเมื่อมีการจัดเก็บจาระบีเอาไว้เป็นเวลานาน ๆ โดยไม่ได้ใช้ เมื่อจาระบีถูกสูบผ่านท่อในระบบหล่อลื่นจะเกิดแรงต้านการไหลขึ้น ซึ่งต่างจากกรณีของน้ำมันที่จะไหลได้อย่างต่อเนื่อง


-ความเหนียวแน่น (Consistency) และหมายเลข NLGIคุณลักษณะที่สำคัญที่สุดของจาระบีก็คือความเหนียวแน่น เพราะจาระบีที่แข็งเกินไปจะไม่สามารถถูกป้อนเข้าไปยังบริเวณที่ต้องการหล่อลื่นได้โดยง่าย ในขณะที่ถ้าจาระบีเหลวมากเกินไปก็จะเกิดการรั่วซึมได้ ความเหนียวแน่นของจาระบีขึ้นอยู่กับชนิด, ขึ้นอยู่สารทำให้เข้มข้นที่ใช้ และยังขึ้นอยู่กับความหนืดของน้ำมันที่ใช้ผลิตจาระบีนั้น ๆ อีกด้วย โดยสรุปแล้วความเหนียวแน่นของจาระบีก็คือค่าความต้านทานของจาระบีต่อการเปลี่ยนรูปเมื่อมีแรงมาทำต่อจาระบีนั่นเอง

ค่าความเหนียวแน่นของจาระบีได้มีการกำหนดเป็นหมายเลขแสดงระดับความเหนียวแน่น โดยสถาบันจาระบีหล่อลื่นแห่งชาติสหรัฐ ฯ (National Lubricating Grease Institute) กำหนดเป็นหมายเลข NLGI ตั้งแต่หมายเลข 000 ถึง 6 ดังแสดงในตารางที่ 1 แสดงระดับความเหนียวแน่นของจาระบีซึ่งได้ หมายเลขนี้ได้จากการทดสอบด้วยการวางกรวยน้ำหนักที่ทราบค่าบนจาระบีแล้ววัดระดับการจมลึกลงในเนื้อจาระบีในเวลา 5 วินาที ที่ระดับอุณหภูมิ 25 องศาเซลเซียส


ตารางที่ 1 แสดงหมายเลข NLGI ของจาระบี




-คุณลักษณะการดักจับฝุ่นผงจาระบีจะเป็นตัวยึดเกาะฝุ่นผงเอาไว้ที่ผิวเนื้อด้านนอกของจาระบี ซึ่งคุณลักษณะนี้จะช่วยป้องกันฝุ่นผง ซึ่งอาจเป็นเศษโลหะไปทำให้บริเวณใช้งานเกิดการสึกหรอได้ อย่างไรก็ตามถ้าฝุ่นผงมากเกินไป มันก็จะจมลงในเนื้อจาระบีและเข้าไปถึงพื้นผิวหล่อลื่นจนกลายเป็นการเร่งให้เกิดการสึกหรอเร็วขึ้นกว่าที่ควร


-การกัดกร่อน และความต้านทานสนิมคุณลักษณะนี้หมายถึงความสามารถของจาระบีในการปกป้องพื้นผิวโลหะจากการกัดกร่อนของสารเคมี ทั้งนี้ความต้านทานสารเคมีโดยธรรมชาติของจาระบีจะขึ้นอยู่กับชนิดของสารทำให้เข้มข้นที่นำมาผลิตจาระบี ความต้านทานต่อการกัดกร่อนอาจเพิ่มขึ้นได้โดยการเติมสารยับยั้งการกัดกร่อน และยับยั้งสนิม

-จุดหยดตัว (Dropping Point)
จุดหยดตัวเป็นตัวชี้ระดับความต้านทานความร้อนของจาระบี ถ้าอุณหภูมิสูงขึ้นเกินระดับที่กำหนดแล้วจาระบีก็จะหลอมละลายเป็นของเหลว และสูญเสียค่าความเหนียวแน่นไป จุดหยดตัวจึงเป็นระดับอุณหภูมิที่ทำให้จาระบีเปลี่ยนสถานะเป็นของเหลวเพียงพอที่จะทำให้เกิดเป็นหยดได้ แม้ว่าจุดหยดตัวเป็นตัวกำหนดอุณหภูมิใช้งานของจาระบี แต่เราไม่ควรอย่างยิ่งที่จะใช้งานจาระบีในย่านอุณหภูมิหยดตัว จาระบีหลายชนิดที่เมื่อหลอมละลายในระดับอุณหภูมิหยดตัวแล้ว จะกลับสู่สภาพปกติได้เมื่ออุณหภูมิเย็นลง

-การระเหย (Evaporation)
ระดับอุณหภูมิของน้ำมันที่ผสมอยู่ในจาระบีจะระเหยที่ระดับ 177องศาเซลเซียส ดังนั้นถ้าอัตราการระเหยมากขึ้นจาระบีก็จะแข็งตัวมากขึ้น เนื่องจากความเข้มข้นของสารทำให้เข้มข้นมีมากขึ้น เหตุการณ์นี้ทำให้เราก็ต้องคอยใส่จาระบีบ่อยขึ้น

-เสถียรภาพออกซิเดชั่น
เป็นความสามารถของจาระบีในการต้านทานผลที่เกิดจากการทำปฏิกิริยาระหว่างสารเคมีกับออกซิเจน เพราะการเกิดออกซิเดชั่นจะทำให้เกิดคราบสกปรกหรือเกิดเป็นตะกอนแข็ง เป็นสาเหตุให้หน้าสัมผัสหล่อลื่นเกิดการสึกหรอได้

- ความสามารถในการสูบ (Pumpability) และความสามารถในการป้อน (Feedability)
ความสามารถในการสูบ เป็นคุณลักษณะของจาระบีที่จะถูกสูบ หรือถูกอัดเข้าสู่ระบบการหล่อลื่น ทั้งนี้ในทางปฏิบัติอาจหมายถึงความง่ายที่จะทำให้จาระบีที่มีความดันสูงผ่านเข้าไปยังส่วนของท่อ, น็อตเซิล, หรือข้อต่อต่าง ๆ ของระบบป้อนกระจายจาระบี (Grease-Dispensing System) ในขณะที่ความสามารถในการป้อน หมายถึงความสามารถที่จาระบีจะถูกดูดเข้าไปในปั๊มอัด ทั้งนี้จาระบีที่มีเนื้อสารแบบเส้นใยเหนียวนั้นมีความสามารถในการป้อนสูง แต่มีความสามารถในการสูบต่ำ หรือถ้าเป็นจาระบีที่มีเนื้อสารเหมือนเนย ก็จะมีความสามารถในการสูบดี แต่มีความสามารถในการป้อนต่ำ

-ความมีเสถียรภาพจากการถูกตัดเฉือน
ความเหนี่ยวแน่นของจาระบีอาจเปลี่ยนแปลงเมื่อนำไปใช้งานซึ่งต้องมีการตัดเฉือนระหว่างหน้าสัมผัสเคลื่อนที่ ความมีเสถียรภาพจากการถูกตัดเฉือนจึงเป็นความสามารถของจาระบีที่จะรักษาระดับของความเหนี่ยวแน่นได้เมื่อถูกตัดเฉือน

-ผลกระทบจากอุณหภูมิสูง
อุณหภูมิสูงจะสร้างความเสียหายให้กับจาระบีมากกว่าน้ำมันหล่อลื่น ทั้งนี้เนื่องจากจาระบีจะไม่สามารถกระจายความร้อนด้วยการพาความร้อนเหมือนกับน้ำมัน นอกจากนี้จาระบียังไม่สามารถถ่ายเทความร้อนได้อีกด้วย ผลก็คือทำให้ปฏิกิริยาออกซิเดชั่นถูกเร่ง เมื่ออุณหภูมิสูงจาระบีจะละลายและไหลออกจากบริเวณที่ต้องให้การหล่อลื่น นอกจากนี้จาระบีที่ละลายอาจเกิดการวาบไฟ หรือเผาไหม้ขึ้นมาได้หากอุณหภูมิสูงกว่า 177 องศาเซลเซียส

-ผลกระทบจากอุณหภูมิต่ำ
ถ้าอุณหภูมิต่ำมากเกินไปจาระบีจะมีมีความหนืดมากขึ้น ทำให้เปลี่ยนรูปเป็นจาระบีที่แข็งมากขึ้นจนส่งผลต่อประสิทธิภาพการหล่อลื่น ทำให้แรงบิด และกำลังขับของเครื่องจักรเปลี่ยนไป และอุณหภูมิต่ำมากจนทำให้เกิดสภาวะเช่นนี้สามารถตรวจสอบได้จากคู่มือหรือฉลากของผลิตภัณฑ์


-ความต้านทานน้ำเป็นความสามารถของจาระบีที่จะคงทนต่อผลกระทบจากน้ำได้โดยไม่มีการเปลี่ยนความสามารถในการเป็นสารหล่อลื่น จาระบีที่ต้านทานน้ำได้จะช่วยให้พื้นผิวลดโอกาสที่จะเกิดสนิมได้อีกด้วย


การทดสอบคุณลักษณะของจาระบี
จากคุณลักษณะเฉพาะของจาระบีที่ได้กล่าวมานี้ "ASTM" ได้มีการทดสอบจาระบีเพื่อระบุระดับคุณลักษณะของจาระบี โดยอาศัยกรรมวิธีต่าง ๆ ยกตัวอย่างเช่น


1.การทดสอบจุดหยดตัว(ใช้วิธีการที่เรียกว่า D566-Dropping Point of Lubricating Grease) วิธีการก็คือ นำเอาจาระบี และเทอร์โมมิเตอร์วางด้วยดันในถ้วย ซึ่งบรรจุอยู่ในท่อทดสอบ จากนั้นให้ความร้อนกับท่อจนจาระบีละลายหยดตัวลงในถ้วย และอุณหภูมิตรงนั้นจะเป็นอุณหภูมิหยดตัว (Dropping Point)

2. การทดสอบการความเหนียวแน่นที่อุณหภูมิสูงมีวิธีการโดยใส่จาระบีเอาไว้ในทรงกระบอกเปิด ซึ่งวางอยู่ในผนังอลูมิเนียมที่ถูกป้อนความร้อนด้วยอัตรา 5 องศาเซลเซียส ต่อนาที ในขณะเดียวกันจะใช้โพรบแบบ 3 ง่ามสอดในเนื้อจาระบี และหมุนโพรบด้วยความเร็ว 20 รอบต่อนาที ตัวโพรบจะต่ออยู่กับ Brookfield Viscometer เพื่อทำการวัดแรงบิดเมื่ออุณหภูมิเพิ่มขึ้น ด้วยกรรมวิธีนี้เองจะทำให้ทราบค่าของความเหนียวแน่นที่อุณหภูมิต่าง ๆ กันได้

3.การทดสอบระดับการป้องกันฝุ่นผงมีวิธีการโดยบรรจุจาระบีในตลับลูกปืน แล้วหมุนตลับลูกปืนด้วยความเร็ว 1750 รอบต่อนาที เป็นเวลา 1 นาที จาระบีส่วนเกินที่ล้นออกมาจะเคลือบเป็นชั้นฟิล์มบางที่ผิวตลับลูกปืน จากนั้นจะนำเอาตลับลูกปืนไปแช่น้ำที่ระดับอุณหภูมิ 52 องศาเซลเซียส ความชื้น 100% เป็นเวลา 48 ชั่วโมง เสร็จแล้วจะถูกนำไปทำความสะอาด และระบุระดับของการป้องกันฝุ่นผง

4. การทดสอบการระเหยตัวจะใช้อากาศร้อนปริมาณ 2 ลิตรผ่านเข้าไปในจาระบีที่บรรจุอยู่ในช่องแคบเล็ก ๆ เป็นเวลา 22 ชั่วโมง โดยกำหนดให้อุณหภูมิของอากาศอยู่ในช่วง 100-150 องศาเซลเซียส หลังจากนั้นระดับการระเหยตัวของจาระบีจะถูกคำนวณออกมาจากน้ำหนักที่หายไป เป็นหน่วยเปอร์เซ็นต์

5. การทดสอบการต้านทานน้ำการทดสอบนี้แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ การทดสอบการชำระล้างจาระบีด้วยน้ำ และการทดสอบการต้านทานต่อละอองน้ำ โดยการทดสอบแรกจะวัดระดับการชำระล้างจาระบีออกจากตลับลูกปืนที่หมุนอยู่ด้วยความเร็ว 600 รอบต่อนาทีในสายน้ำที่ไหลผ่านด้วยอัตราไหล 5 มิลลิลิตรต่อวินาที เป็นเวลา 1 ชั่วโมง โดยใช้น้ำอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส และ 79 องศาเซลเซียส ในขณะที่การทดสอบที่สองนั้นจะวัดการถูกชำระล้างออกของจาระบีบนแผ่นโลหะหนา 0.8มิลลิเมตร โดยใช่หัวฉีดน้ำอุณหภูมิ 38 องศาเซลเซียส ด้วยความดัน 275 kPa เป็นเวลา 5 นาที


ชนิดของจาระบี
จาระบีที่มีใช้ และมีการผลิตมาใช้ในทุกวันนี้แบ่งออกได้เป็นหลายชนิด และที่รวบรวมมาได้ในที่นี้ประกอบไปด้วย 5 ชนิดหลัก ได้แก่

1. จาระบีแคลเซียม (Calcium Grease)


จาระบีแคลเซียม หรือจาระบีปูนขาว เป็นจาระบีชนิดแรกที่ได้รับการผลิตขึ้นมาด้วยเทคโนโลยีสมัยใหม่ โดยอาศัยปฏิกิริยาระหว่างน้ำมันแร่ที่มีไขมัน, กรดไขมัน, น้ำ และแคลเซียมไฮดรอกไซด์ ด้วยคุณสมบัติในการระเหยได้ของน้ำที่เป็นส่วนประกอบส่วนหนึ่ง ทำให้จาระบีแคลเซียมมีความไวต่ออุณหภูมิในจุดที่จะทำให้เกิดการระเหยตัวได้ อย่างไรก็ตามถ้ามีการผสมด้วยกรด 12-Hydroxystearic จะทำให้เกิดเป็นจาระบีชนิด Anhydrous (ปราศจากน้ำ) ใช้งานในย่านอุณหภูมิสูงระดับ 110 องศาเซลเซียส ได้อย่างต่อเนื่อง

จาระบีแคลเซียมที่มีการเติมเกลือแคลเซียม (Salt Calcium Acetate) เข้าไปด้วยจะช่วยเพิ่มคุณสมบัติในการทนต่อความดันสูงได้ โดยไม่ต้องใช้สารเติมแต่อย่างใด และยังช่วยขยายจุดหยดตัวได้สูงถึง 260 องศาเซลเซียส เราจึงอาจใช้จาระบีชนิดนี้ในเครื่องจักร หรือในบริเวณที่มีอุณหภูมิสูงได้ถึง 177 องศาเซลเซียสและเรียกได้ว่าเป็นจาระบีอเนกประสงค์ (Multipurpose Grease)


2. จาระบีโซเดียม (Sodium Grease)
จาระบีโซเดียม ผลิตขึ้นใช้ในงานที่มีอุณหภูมิสูงกว่าจาระบีแคลเซียม โดยมีระดับการใช้งานสูงสุดที่ระดับอุณหภูมิ 121องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามจาระบีโซเดียมสามารถละลายน้ำได้ง่าย จึงมักมีการผสมด้วย Metal Soaps อย่างเช่นแคลเซียมเพื่อเพิ่มคุณสมบัติในการต้านทานน้ำ จาระบีโซเดียมได้รับการผลิตมาเพื่อการใช้งานที่ต้องการความทนทาน (Heavy-duty) และต้องการคุณสมบัติในการซีล (Seal) เช่นการใช้ในมอเตอร์ไฟฟ้า เป็นต้น


3. จาระบีอะลูมินัม (Aluminum Grease)
จาระบีอะลูมินัม เป็นสารบีใส และมีเนื้อสารคล้ายเชือก ดังแสดงในรูปที่ 4 โดยได้รับการผลิตขึ้นจากน้ำมันที่มีความหนืดสูง เมื่อจาระบีอะลูมินัมมีอุณหภูมิสูงถึง 79(C เนื้อสารจะมีความเหนียวมากขึ้น และสร้างสารคล้ายเนื้อยางขึ้นมาเพื่อรองรับพื้นผิวโลหะ ลดระดับการหล่อลื่น แต่เพิ่มระดับกำลังการขับดันมากขึ้น ข้อดีของจาระบีอะลูมินัมก็คือ มีความต้านทานน้ำสูง, คุณสมบัติในการยึดติดดี และยับยั้งสนิมได้ดีโดยไม่ต้องเติมสารใดเพิ่ม แต่ข้อเสียของจาระบีอะลูมินัมคือ อายุการใช้งานสั้น

จาระบีอะลูมินัมคอมเพล็กซ์ (Aluminum Complex) มีย่านอุณหภูมิการทำงานสูงถึง 100 องศาเซลเซียสซึ่งสูงกว่าจาระบีอะลูมินัมธรรมดา (Aluminum Soap), ต้านทานน้ำ และสารเคมีได้ดีกว่า แต่ถ้าใช้งานในอุณหภูมิสูง ๆ หรือในงานที่มีความเร็วการเคลื่อนที่สูงก็จะมีอายุการทำงานที่สั้นลงกว่า


4. จาระบีลิเธียม (Lithium Grease)


จาระบีลิเธียม แบ่งออกเป็น 2 รูปแบบคือ แบบผิวเนย และแบบคอมเพล็กซ์ ทั้งนี้แบบผิวเนยนิยมใช้กันมากที่สุดเมื่อเทียบกับแบบอื่น ๆ โดยมีสารประกอบหลักคือ ลิเธียม กับ 12-Hydroxystrarate Soap ทำให้มีจุดหยดตัวสูงถึง 204 องศาเซลเซียส สามารถนำไปใช้งานในบริเวณที่อุณหภูมิสูงสุดถึง 135 องศาเซลเซียสนอกจากนี้ยังนำไปใช้ในอุณหภูมิต่ำได้ถึงระดับ -35 องศาเซลเซียสอีกด้วย คุณสมบัติที่ดีของจาระบีแบบลิเธียมก็คือมีเสถียรภาพที่ดีต่อการตัดเฉือน และมีค่าสัมประสิทธิ์ความเสียดทานต่ำ จึงเหมาะกับการใช้งานในเครื่องจักรที่มีความเร็วสูง, ความต้านทานต่อการแยกตัวของน้ำมัน, ความสามารถในการสูบฉีดดีเยี่ยม นอกจากนี้ก็ยังมีคุณสมบัติในการต้านทานน้ำ แม้จะน้อยกว่าจาระบีแคลเซียม และอะลูมินัม อย่างไรก็ตามจาระบีลิเธียมจะไม่สามารถต้านทานฝุ่นละอองได้ดี เว้นแต่จะมีการเติมสารช่วย ทั้งนี้มักมีการใช้สารเติม Anti-Oxidation และสารเติมเพิ่มความต้านทานความดันกับจาระบีลิเธียมด้วย

จาระบีลิเธียมคอมเพล็กซ์ มีคุณลักษณะพิเศษในเรื่องการต้านทานอุณหภูมิสูงเป็นพิเศษ เพราะมีจุดหยดตัวสูงถึง 260 องศาเซลเซียส จาระบีชนิดนี้จึงเหมาะกับคำเรียกว่าจาระบีสารพัดประโยชน์มากที่สุด


5. จาระบีชนิดอื่น ๆ (Other Grease)
จาระบีทั้งหมดที่กล่าวมานี้ต่างใช้สารทำให้เข้มข้นที่เป็นเกลือโลหะที่ได้จากไขมัน (Soaps) เป็นสารประกอบเพื่อผลิตเป็นจาระบี แต่ก็มีจาระบีบางชนิดที่ไม่ได้ใช้ Soaps เป็นสารประกอบ แต่ใช้สารอินทรีย์ (Organics) และสารอนินทรีย์ (Inorganic)


จาระบีโพลียูเรีย (Polyurea Grease)เป็นจาระบีที่ใช้สารอินทรีย์เป็นตัวทำให้น้ำมันเข้มข้น จุดเด่นของจารบี้ชนิดนี้ก็คือมีความต้านทานต่อการออกซิเดชั่น ทำให้ใช้งานได้ในย่านอุณหภูมิที่กว้าง (-20 ถึง 177(C) และมีอายุการใช้งานที่ยาวนาน, มีความต้านทานน้ำดี จนถึงดีเยี่ยมขึ้นอยู่กับเกรดของจาระบี เหมาะกับการใช้งานร่วมกับซีลประเภทยางธรรมชาติ และใช้กับตลับลูกปืนทุกประเภทโดยเฉพาะแบบ Ball Bearings เรียกได้ว่าจาระบีโพลียูเรียผลิตมาเพื่อช่วยอายุการใช้งานของตลับลูกปืนนั่นเอง


จาระบีโพลียูเรียคอมเพล็กซ์ (Polyurea Complex Grease)ได้จากการผสมแคลเซียมอะซิเตท (Calcium Acetate) หรือแคลเซียมฟอสเฟต (Calcium Phosphate) เข้ากับโพลีเมอร์ ทั้งนี้ก็เพื่อเพิ่มคุณสมบัติให้ดีขึ้นกว่าจาระบีโพลียูเรีย ในการทนทานต่อแรงกดเป็นหลัก และเพิ่มคุณสมบัติให้เป็นจาระบีแบบอเนกประสงค์มากขึ้น

จาระบีออร์กาโน-เคลย์ (Organo-Clay)เป็นจาระบีสารอนินทรีย์ซึ่งนิยมใช้กันมากที่สุด โดยสารอนินทรีย์ที่ใช้เป็นตัวทำให้น้ำมันเข้มข้นได้มาจากการดินเหนียวดัดแปลงที่ไม่ละลายในน้ำมัน ซึ่งได้จากการผ่านกระบวนการทางเคมีทำให้ดินเหนียวมีลักษณะเป็นเกร็ดจับตัว และยึดติดอยู่กับน้ำมัน จาระบีชนิดนี้มีความต้านทานความร้อนเป็นพิเศษ เนื่องจากคุณสมบัติของดินเหนียวที่ไม่หลอมละลายนั่นเอง ย่านการใช้งานของจาระบีจึงถูกกำหนดโดยอุณหภูมิการระเหยของน้ำมันนั่นคือในระดับ 177องศาเซลเซียส อย่างไรก็ตามในการใช้งานในช่วงเวลาสั้น ๆ จาระบีชนิดนี้สามารถทนอุณหภูมิได้สูงถึงจุดหยดตัวคือ 260 องศาเซลเซียส ข้อดีอีกอย่างหนึ่งก็คือมีความต้านทานน้ำได้ดี แต่จะต้องมีการเติมสารช่วยเพิ่มเพิ่มความต้านทานการออกซิเดชั่น และเพิ่มความสามารถในการต้านทานฝุ่นละออง


คำถาม : ในการใช้งานจริงหากเราใช้จาระบีแต่ละชนิดปะปนกัน จะเกิดอะไรขึ้น?
คำตอบ


1.จาระบีแต่ละชนิด มีสารประกอบทางเคมีต่าง ๆ กัน จึงไม่ควรนำมาใช้ปะปนกัน เพราะจะทำให้ความสามารถในการหล่อลื่นเปลี่ยนไป โดยอาจทำให้จาระบีแข็ง หรือเหลวเกินไปจนหมดสภาพการใช้งาน

2.การผสมจาระบีซึ่งผลิตจากน้ำมันต่างชนิดกัน จะทำให้เกิดเป็นของเหลวที่ไม่ช่วยให้เกิดชั้นฟิล์มหล่อลื่นอย่างต่อเนื่อง และสารเติมจะถูกทำละลายเมื่อจาระบีต่างชนิดผสมเข้าด้วยกันส่งผลให้การต้านทานความร้อนลดลง และเสถียรภาพในการทนแรงเฉือนเปลี่ยนไป รวมทั้งการเปลี่ยนยี่ห้อของจาระบีใหม่ ก็จะต้องทำการล้างเอาจาระบีเก่าออกก่อนด้วย


แนวทางการเลือกใช้จาระบี
เมื่อจะเลือกใช้จาระบี สิ่งที่ต้องพิจารราเป็นหลักก็คือการกำหนดคุณสมบัติที่ต้องการของงานนั้น ๆ เพื่อที่จะเลือกจาระบีให้เหมาะกับงาน ดังแสดงในตารางที่ 2 เป็นแนวทางการเลือกใช้จาระบีให้เหมาะกับงานต่าง ๆ ในตารางนี้แสดงจาระบีชนิดที่ใช้กันโดยทั่วไป 10 ชนิด พร้อมทั้งข้อมูลคุณสมบัติทั่ว ๆ ไป, พิกัดอุณหภูมิ และหลักในการใช้ (ข้อมูลในตารางได้มาจาก NLGI Lubricating Grease Guild, 4th Ed.)


ตารางที่ 2 แสดงข้อมูลการเลือกใช้จาระบีในงานต่าง ๆ





            

 Top 

คุณไม่สามารถแสดงความคิดเห็นต่อกระทู้นี้ได้